การปรับตัวระดับภาคอุตสาหกรรม : รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Foot Print)

การปรับตัวระดับภาคอุตสาหกรรม : รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Foot Print)

1.1 Carbon Footprint (CF) คืออะไร สำคัญอย่างไร?

           “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” หมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCA : Life Cycle Assessment) ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เข้าใจง่ายๆ ก็คือเป็นการต่อยอดจากการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้วในอดีต ซึ่งมุ่งไปที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และหาตัวชี้วัดค่อนข้างยากสำหรับ LCA

           ส่วนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ CF ซึ่งต่อไปเราจะเคยชินกับคำว่า CF สามารถคำนวณออกมาเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ ชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันชนิดใดที่มีคาร์บอนต่ำกว่า ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่า ส่งผลกระทบก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า แต่การคิดคำนวณก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องอาศัยฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ สำหรับประเทศไทยค่อนข้างโชคดีที่ MTEC:ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พากเพียรพยายามจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ (National Life CycleInventory Database) จนสามารถใช้เป็นข้อมูลในหลายๆ ผลิตภัณฑ์เพื่อทำโครงการนำร่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์
image0022 การปรับตัวระดับภาคอุตสาหกรรม : รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Foot Print)
รูปภาพตัวอย่างเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศต่างๆ
1.2 LCI Database มีความสำคัญอย่างไร
          นานาชาติที่เป็นประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นใช้ LCI Database เป็นฐานข้อมูลพื้นฐานในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ โดย LCI Database กำลังถูกผลักดันให้เป็นมาตรฐานสากล (ISO) เนื่องจากวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCA) เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ดี ในการประเมินความเป็นมิตรของผลิตภัณฑ์ บริการและองค์กร ไม่ว่าจะเป็น Eco-Products/Eco-Label/Eco-Efficiency/Carbon Footprint สำหรับประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมก่อนใครในอาเซียน ภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้และพัฒนา Eco-products ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า ส่วนภาครัฐก็สามารถใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน
1.3 สถานการณ์ของ Carbon Footprint (CF) ในประเทศไทย
          องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และ MTEC เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ใช้ประโยชน์จาก CF โดยได้ร่วมกันจัดพิธีลงนาม การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตพร้อมการสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ณ โรงแรมสยามซิตี้ มีการนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จัดแสดงเครื่องหมาย CF แจ้งปริมาณคาร์บอนมาให้ความรู้กันอย่างคับคั่ง และได้รับเกียรติจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช เป็นประธานในพิธี
1.4 วิธีการประเมิน CF: Carbon Footprint
         เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ประกาศใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ก่อนการประกาศมาตรฐานการประเมินตาม ISO 14067 ในเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งวิธีการจะไม่แตกต่างจากที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้
image0041 การปรับตัวระดับภาคอุตสาหกรรม : รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Foot Print)
รูปภาพ CFP คำนวนจากวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ใน 5 ระยะ
โดยเริ่มต้นจากการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ต้องการคำนวณและดำเนินการ CF ดังนี้
(1) จัดทำ Life Cycle Flow Chart ของผลิตภัณฑ์
(2) เก็บข้อมูลในโรงงาน
(3) นำข้อมูลมาเปลี่ยนเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คูณด้วย CO2 emission intensity)
(4) รวบรวมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากทุกกระบวนการ = CF
พูดง่ายๆ ก็คือนำคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากทุกกระบวนการมาบวกกัน โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานจาก MTEC ก็จะได้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ : CF
1.5 ตัวอย่าง การคำนวณ CF โครงการนำร่อง Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย
5 บริษัทชั้นนำอาสาเข้าโครงการนำร่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประกอบด้วย
1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์อาหารและบริการบนเครื่องบิน
2. บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิ 100%
3. บริษัท ทองไทยการทอ จำกัด ผลิตภัณฑ์เสื้อยืด Cotton 100%
4. บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์อาหารไก่
5. บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อก จำกัด ผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะขอยกตัวอย่างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่คำนวณได้จากโครงการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดังนี้
image0063 การปรับตัวระดับภาคอุตสาหกรรม : รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Foot Print)
รูปภาพตาราง CFP ของข้าวแกง + แกงเขียวหวานไก่ + ผัดผัก และมัสมั่นไก่
1.6 เก็บตกจากการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CF)
          ท่านทราบหรือไม่ว่า การสระผมซึ่งโดยปกติใช้น้ำอุ่น เครื่องทำน้ำอุ่นใช้ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ต้องนำมารวมด้วย หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง CF ของข้าวปั้นญี่ปุ่น ซึ่งประกอบด้วยไส้ปลาดิบหลาย ๆ ชนิด เมื่อนำข้าวใส่ไส้ปลาดิบแต่ละชนิดมาเปรียบเทียบกันปรากฏว่าข้าวปั้นปลาดิบไส้ปลาคอด (Cod) ซึ่งเป็นปลาน้ำลึกอยู่ไกลต้องใช้ทรัพยากรมาก มีค่า CF สูงที่สุด สำหรับท่านที่ชอบน้ำอัดลมกระป๋องหรือกล่องแบบ UHT ซึ่งการคิดคำนวณ ต้องนำ CF จากกระป๋องหรือกล่องมารวมกับน้ำอัดลม หรือนมในกล่อง จึงจะได้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เราใช้ ในอนาคตอันใกล้ ท่านสามารถรวม CF ในแต่ละวันที่ท่านเป็นผู้ก่อเริ่มตั้งแต่อาหารมื้อเช้า น้ำอัดลม นม พอถึงที่ทำงานพื้นพรมก็มี CF และอีกหลายๆ อย่างรอบๆ ตัวก็จะมี CF กลับมาถึงบ้านอาบน้ำสระผมยาสระผมก็ยังมี CF ซึ่งวิถีชีวิตในแต่ละวันท่านอาจสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มก๊าซเรือนกระจกอย่างมากมาย หากรัฐมีนโยบายการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม PPP: Polluter Pays Principle เงินเดือนอาจไม่พอใช้ก็ได้คาร์บอนฟุตพริ้นท์จะเป็นภาระหรือพันธะของผู้ประกอบการ อยู่ที่มุมมองของท่าน แต่ที่แน่นอน CF จะต้องกลายเป็น NBT: Non Tariff Barrier หรือข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอากรในอีกไม่นานเกินรอจึงควรติดดาวให้กลุ่มนักวิชาการที่รณรงค์ในเรื่องนี้จนมีความพร้อมก่อนประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ดังนั้นองค์กรของรัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดินภาษีของประชาชน ก็ควรเอาเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่พยายามออกกฎระเบียบเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ

ที่มา : http://www.environnet.in.th/?p=5640

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น